คณะกรรมการตรวจสอบ

Meet The Team

นายประวิทย์ ตันติวศินชัย
ประธานกรรมการตรวจสอบ
กรรมการอิสระ
และเป็นผู้มีประสบการณ์ด้านบัญชี หรือการเงิน
แต่งตั้งครั้งแรก : 22 ธันวาคม 2542
แต่งตั้งล่าสุด : 13 พฤศจิกายน 2566

ผศ.ดร. ทิพวรรณ ปิ่นวนิชย์กุล
กรรมการตรวจสอบ
กรรมการอิสระ
และเป็นผู้มีประสบการณ์ด้านบัญชี หรือการเงิน
แต่งตั้งครั้งแรก : 16 สิงหาคม 2562
แต่งตั้งล่าสุด : 13 พฤศจิกายน 2566

นายคเชนทร์  เบญจกุล
กรรมการตรวจสอบ
กรรมการอิสระ
และเป็นผู้มีประสบการณ์ด้านบัญชี หรือการเงิน
แต่งตั้งครั้งแรก : 12 พฤศิจิกายน 2562
แต่งตั้งล่าสุด :  13 พฤศจิกายน 2566

รายงานคณะกรรมการตรวจสอบ

ขอบเขตและหน้าที่

การสรรหา การแต่งตั้ง วาระการดำรงตำแหน่ง

รายงานคณะกรรมการตรวจสอบ

         คณะกรรมการตรวจสอบ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการของบริษัทฯ ประกอบด้วยกรรมการอิสระ  จำนวน 3 ท่าน โดยทั้ง 3 ท่าน เป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจ หรือมีประสบการณ์ด้านบัญชีหรือการเงินโดยตรง และมีคุณสมบัติตรงตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์กำหนด

         ในรอบปี พ.ศ. 2565 คณะกรรมการตรวจสอบได้มีการประชุมตามวาระจำนวน 5 ครั้ง โดยเป็นการประชุมกันเองระหว่างกรรมการตรวจสอบ ผู้สอบบัญชี และผู้บริหารระดับสูงทางด้านบัญชี การเงิน และตรวจสอบภายใน โดยไม่มีกรรมการบริหารเข้าร่วมประชุม แต่อยู่ภายใต้การรับรู้ของฝ่ายบริหารจำนวน 1 ครั้ง

ชื่อ-นามสกุล

ตำแหน่ง

การเข้าร่วมประชุม

นายประวิทย์ ตันติวศินชัย

ประธานคณะกรรมการตรวจสอบ

5/5

ผศ.ดร. ทิพวรรณ ปิ่นวนิชย์กุล

กรรมการตรวจสอบ

5/5

นายคเชนทร์ เบญจกุล

กรรมการตรวจสอบ

5/5

         คณะกรรมการตรวจสอบ ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นอิสระ ตามขอบเขตอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ในกฎบัตรของคณะกรรมการตรวจสอบและที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัทฯ โดยได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง คณะกรรมการตรวจสอบ ตระหนักถึงความสำคัญของการควบคุมภายใน การบริหารจัดการความเสี่ยง  และการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อให้บริษัทฯ มีการควบคุมภายในที่ดี มีการบริหารจัดการความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และยอมรับได้ ตลอดจนการรายงานทางการเงินที่มีความถูกต้อง เชื่อถือได้ โดยคณะกรรมการตรวจสอบได้มีการหารือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับกรรมการบริหาร ผู้บริหารระดับสูง ผู้ตรวจสอบภายใน และผู้สอบบัญชีทุกไตรมาส สรุปสาระสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ในรอบปี พ.ศ. 2565 ได้ดังนี้

  1. สอบทานงบการเงินประจำปี พ.ศ. 2565  คณะกรรมการตรวจสอบได้สอบทานงบการเงินรายไตรมาส และงบการเงินประจำปี พ.ศ. 2565 ของบริษัทฯ และบริษัทย่อย ก่อนนำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทฯ โดยได้ประชุมร่วมกับผู้สอบบัญชี ฝ่ายบริหาร ฝ่ายบัญชี และแผนกตรวจสอบภายในของบริษัทฯ ในการพิจารณางบการเงินรวมรายไตรมาส และงบการเงินประจำปี เพื่อสอบทานความถูกต้องครบถ้วน การปฏิบัติตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป การเลือกใช้นโยบายการบัญชี และการเปิดเผยข้อมูลที่เพียงพอ รวมทั้งได้นำข้อสังเกตของผู้สอบบัญชีมาปรับปรุงแก้ไขในการจัดทำงบการเงินของบริษัทฯ ซึ่งคณะกรรมการตรวจสอบมีความเห็นสอดคล้องกับผู้สอบบัญชีว่า งบการเงินของบริษัทฯ ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีที่รับรองทั่วไป และเปิดเผยข้อมูลอย่างถูกต้องครบถ้วน
  2. สอบทานการกำกับดูแลกิจการที่ดี คณะกรรมการตรวจสอบได้ตระหนักถึงความสำคัญของการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยได้ทบทวนนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดีปีละครั้ง รวมถึงส่งเสริม และสนับสนุนให้ผู้บริหาร และพนักงานทุกคนมุ่งมั่นที่จะนำการกำกับดูแลกิจการที่ดีมาใช้ในการดำเนินกิจการจนกลายเป็นวัฒนธรรมขององค์กร ดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณธรรมด้วยความโปร่งใส และมีความรับผิดชอบต่อสังคม จนได้รับการประเมินให้เป็นบริษัทที่มีบรรษัท
    ภิบาลในระดับดีเลิศ 15 ปีซ้อน (ปี พ.ศ. 2551 – ปี พ.ศ. 2565) จากสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD)
  3. สอบทานการบริหารจัดการความเสี่ยง คณะกรรมการตรวจสอบได้กำกับดูแลการบริหารจัดการความเสี่ยงของบริษัทฯ และบริษัทย่อย เพื่อให้มั่นใจได้ว่าความเสี่ยงต่างๆ ของบริษัทฯ อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ โดยคณะกรรมการตรวจสอบได้สอบทานแผนการบริหารจัดการความเสี่ยง รับทราบการดำเนินการบริหารความเสี่ยงเป็นระยะๆ คณะกรรมการตรวจสอบเห็นว่าบริษัทฯ มีการบริหารจัดการความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
  4. สอบทานการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทฯ คณะกรรมการตรวจสอบได้สอบทาน ให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายและข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ประเทศไทย และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคณะกรรมการตรวจสอบมีความเห็นว่า ไม่พบประเด็นที่เป็นสาระสำคัญในเรื่องการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง
  5. สอบทานและให้ความเห็นต่อรายการที่เกี่ยวโยงกันและรายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว คณะกรรมการตรวจสอบเห็นว่าบริษัทฯ ได้มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างถูกต้องครบถ้วนตามข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และรายการดังกล่าวเป็นรายการปกติของธุรกิจ มีความเหมาะสมเพื่อประโยชน์ทั้งหมดของบริษัทฯ
  6. กำกับดูแลระบบการควบคุมภายในและตรวจสอบภายใน คณะกรรมการตรวจสอบได้กำกับดูแลให้มีระบบการควบคุมภายในที่ดี มีประสิทธิภาพเพียงพอต่อการใช้ทรัพยากร และการปฏิบัติงาน คณะกรรมการตรวจสอบได้รับทราบการปฏิบัติงานของแผนกตรวจสอบภายในทุกไตรมาส และเสนอแนวทางปรับปรุงแก้ไข รวมทั้งให้มีการติดตามแก้ไขปรับปรุงข้อบกพร่องที่ตรวจพบ คณะกรรมการตรวจสอบได้สอบทานแผนการตรวจสอบประจำปี 2565 โดยตระหนักถึงความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นที่จะมีผลต่อการดำเนินงาน และฐานะการเงินของบริษัทฯ นอกจากนี้ยังได้เน้นย้ำการตรวจสอบภายในโดยคำนึงถึงการเพิ่มประสิทธิภาพทางธุรกิจ เพื่อเพิ่มรายได้ และลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน
  7. คัดเลือกและเสนอแต่งตั้งผู้สอบบัญชี คณะกรรมการตรวจสอบได้พิจารณาคัดเลือกผู้สอบบัญชี โดยพิจารณาความเป็นอิสระของผู้สอบบัญชี ความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ในการตรวจสอบ ทีมงานของผู้สอบบัญชีในสำนักงาน และค่าตอบแทนที่เหมาะสม คณะกรรมการตรวจสอบได้พิจารณาคัดเลือก และเสนอแต่งตั้งผู้สอบบัญชีต่อคณะกรรมการบริษัทฯ ในการประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อขออนุมัติต่อที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้น ให้แต่งตั้งผู้สอบบัญชี จากบริษัท สอบบัญชีธรรมนิติ จำกัด เป็นผู้สอบบัญชีของบริษัทฯ ในปี พ.ศ. 2566

         โดยสรุป คณะกรรมการตรวจสอบได้ปฏิบัติหน้าที่ตามขอบเขตและอำนาจหน้าที่ ที่ได้กำหนดไว้ในกฎบัตรคณะกรรมการตรวจสอบด้วยความระมัดระวังรอบคอบ และมีความเป็นอิสระอย่างเพียงพอ โดยได้รับความร่วมมือจากฝ่ายบริหาร พนักงาน และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเป็นอย่างดี คณะกรรมการตรวจสอบมีความเห็นว่า คณะกรรมการบริษัทฯ กรรมการบริหาร และพนักงานทุกท่าน ได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการปฏิบัติงาน และการดำเนินงานภายใต้ระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดี อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ด้วยความโปร่งใสเชื่อถือได้ เพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ถือหุ้น นักลงทุน และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย

นายประวิทย์ ตันติวศินชัย
ประธานคณะกรรมการตรวจสอบ

ขอบเขตและหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบ
  1. สอบทานให้บริษัทฯ มีการรายงานทางการเงินอย่างถูกต้อง และเพียงพอ
  2. สอบทานให้บริษัทฯ มีระบบการควบคุมภายใน (Internal Control) และระบบการตรวจสอบภายใน (Internal Audit) ที่เหมาะสม และมีประสิทธิผล และพิจารณาความเป็นอิสระของหน่วยงานตรวจสอบภายใน ตลอดจนให้ความเห็นชอบในการพิจารณาแต่งตั้ง โยกย้าย เลิกจ้างหัวหน้าหน่วยงานตรวจสอบภายใน หรือหน่วยงานอื่นใดที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการตรวจสอบภายใน
  3. สอบทานให้บริษัทฯ มีระบบการประเมินความเสี่ยง การบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม เพียงพอ และมีประสิทธิภาพ
  4. สอบทานให้บริษัทฯ ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัทฯ
  5. พิจารณา คัดเลือก เสนอแต่งตั้งบุคคลซึ่งมีความเป็นอิสระเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้สอบบัญชีของบริษัทฯ และเสนอค่าตอบแทนของบุคคลดังกล่าว รวมทั้งเข้าร่วมประชุมกับผู้สอบบัญชีโดยไม่มีฝ่ายจัดการเข้าร่วมประชุมด้วยอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  6. พิจารณารายการที่เกี่ยวโยงกัน หรือรายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ให้เป็นไปตามกฎหมาย และข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ ทั้งนี้ เพื่อให้มั่นใจว่ารายการดังกล่าวสมเหตุสมผล และเป็นประโยชน์สูงสุดต่อบริษัทฯ
  7. จัดทำรายงานของคณะกรรมการตรวจสอบโดยเปิดเผยไว้ในรายงานประจำปีของบริษัทฯ ซึ่งรายงานดังกล่าวต้องลงนามโดยประธานคณะกรรมการตรวจสอบ และต้องประกอบด้วยข้อมูลอย่างน้อยดังต่อไปนี้
    (ก) ความเห็นเกี่ยวกับความถูกต้อง ครบถ้วน เป็นที่เชื่อถือได้ของรายงานทางการเงินของบริษัทฯ
    (ข) ความเห็นเกี่ยวกับความเพียงพอของระบบควบคุมภายในของบริษัทฯ
    (ค) ความเห็นเกี่ยวกับระบบบริหารความเสี่ยงของบริษัท
    (ง) ความเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ ข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัทฯ
    (จ) ความเห็นเกี่ยวกับความเหมาะสมของผู้สอบบัญชี
    (ฉ) ความเห็นเกี่ยวกับรายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์
    (ช) จำนวนการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบ และการเข้าร่วมประชุมของกรรมการตรวจสอบแต่ละท่าน
    (ซ) ความเห็น หรือข้อสังเกตโดยรวมที่คณะกรรมการตรวจสอบ ได้รับจากการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎบัตร (Charter)
    (ฌ) รายการอื่นที่เห็นว่าผู้ถือหุ้น และผู้ลงทุนทั่วไปควรทราบภายใต้ขอบเขตหน้าที่ และความรับผิดชอบที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัทฯ
  8. ปฏิบัติการอื่นใดตามที่คณะกรรมการของบริษัทฯ มอบหมายด้วยความเห็นชอบจากคณะกรรมการตรวจสอบ

การสรรหา การแต่งตั้ง และวาระการดำรงตำแหน่งกรรมการตรวจสอบ

         คณะกรรมการบริษัทฯ เป็นผู้แต่งตั้งกรรมการตรวจสอบ โดยการนำเสนอจากคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาผลตอบแทน ซึ่งพิจารณาจากกรรมการอิสระของบริษัทฯ และอย่างน้อย 1 ท่านที่มีความรู้ด้านบัญชี และการเงิน มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 2 ปี โดยกรรมการตรวจสอบซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับการแต่งตั้งใหม่อีกก็ได้